วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ส้มตำ อาหารพื้นบ้านที่ไม่ธรรมดา




“ส้มตำทอด”อาหารพื้นบ้านที่ไม่ธรรมดา
หากจะกล่าวถึงอาหารอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดีทั้งเด็กเล็กไปจนคนสูงอายุ ก็คงหนีไม่พ้น “ส้มตำ” อาหารจานเด็ดรสจัดจ้านที่ถูกใจใครหลายคน ในวันนี้ ส้มตำไม่ได้หยุดอยู่แค่อาหารพื้นบ้านธรรมดารูปร่างหน้าตาเดิม ๆ หากแต่กลายมาเป็น “ส้มตำทอด” อาหารแปลกแหวกแนว ที่มีรสชาติอร่อยไม่ซ้ำใคร และที่สำคัญคือ ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่เหล่านักเรียนมัธยมปลาย ของโรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนอีกด้วย
แม้จะแปลกที่เป็น “ส้มตำทอด” แล้ว หากก็ยังไม่ใช่ส้มตำทอดธรรมดา เพราะพ่วงด้วยรางวัลดีเด่น นวัตกรรมทางธุรกิจ ปี พ.ศ. 2545 ของโครงการกรุงไทยยุววาณิช ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลาย ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ จากทุกโรงเรียน มีโอกาสคิดและสร้างสรรค์ธุรกิจแปลกใหม่ เพื่อให้บรรดาเยาวชนรู้ว่าการประกอบธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เป็นเรื่องในฝันอันแสนไกลอีกต่อไป เช่นเดียวกับโครงงาน “ส้มตำทอด” ของกิตติคุณ กันยะดอย (แซ็ก), สามารถ กาวิละพันธ์ (หนุ่ย) และวราพันธ์ จันทร์ธง (แบงค์) ซึ่งมีอาจารย์สุนทร บุญมี คอยให้คำปรึกษา และทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาโครงงาน “ส้มตำทอด” จนประสบความสำเร็จ
“ตอนแรกไม่ได้หวังว่าจะต้องได้รับรางวัล แต่ส่งโครงงานเพื่อเป็นประสบการณ์และเป็นการฝึกทักษะของนักเรียน เพราะที่โรงเรียนก็มีโครงงานคล้าย ๆ แบบนี้เหมือนกันครับ” หนุ่ย หนึ่งในทีมงานผู้สร้างสรรค์ส้มตำทอดบอกถึงจุดเริ่มของโครงงาน
“สาเหตุที่ต้องเป็นส้มตำนั้น ก็เพราะส้มตำเป็นอาหารของคนทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไฮโซ หรือโลโซก็ตาม” อาจารย์สุนทรกล่าวติดตลก และที่ต้องนำเส้นมะละกอมา “ทอด” นั้น ไม่ใช่มีเหตุผลแค่ว่าป้องกันมะละกอเน่าเท่านั้น อาจารย์สุนทรซึ่งสอนด้านโภชนาการยังสอดแทรกเรื่องสุขภาพไว้ด้วย “เมื่อลองมาแยกสารอาหารในส้มตำจะเห็นได้ว่า ส้มตำขาดสารอาหารอยู่ 2 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ทีนี้ การที่จะทำให้ส้มตำมีสารอาหารครบ 5 หมู่ได้ ก็คือ นำมาทอด” เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ส้มตำทอดของอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่งนั้น จะอร่อยและดีต่อสุขภาพขนาดไหน และแล้ว...เมื่อส้มตำทอดเดินทางไกล จากเมืองเหนือ สู่ลานสานฝัน TK Park ที่นี่จึงถูกเนรมิตให้เป็น “ลานตำส้มตำ” ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงสากกระทบกับครกมากเท่าใด เหล่าผู้ชื่นชอบส้มตำก็ต่างพากันเดินเข้ามามากเท่านั้น นอกจากรสชาติของส้มตำจะเป็นที่ถูกอกถูกใจ ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งนักเรียน และอาจารย์ต่างทอด และตำกันจนมือเป็นระวิง แต่ก็ยังทำไม่ทันคนชิมแล้วนั้น ลีลาการเขย่าส้มตำทอดให้เข้ากันของแซ็ก หนุ่ย และแบงค์ ก็เตะตาเตะใจเหล่าคนชิมมาก โดยเฉพาะตอนที่ผู้ปรุงและผู้ชิมส้มตำทอด ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่วาดลวดลายเขย่าส้มตำทอดประกอบเพลง “ส้มตำ” ก็นับเป็นช่วงเวลาที่สร้างความสนุกสนาน และบรรยากาศครื้นเครงอย่างเป็นกันเองได้มากทีเดียว
จาก “ส้มตำ”อาหารพื้นบ้านธรรมดา ๆ กลายมาเป็น “ส้มตำทอด” อาหารไม่ธรรมดาระดับประเทศ “ดีใจ ไม่คิดว่าจะมาถึงตรงนี้ได้” คำพูดเพียงเท่านี้ก็ไม่อาจบรรยายความรู้สึกเต็มตื้นในดวงตาของเชฟรุ่นเยาว์ได้หมด ต้องขอขอบคุณโครงการกรุงไทยยุววาณิช ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชน และเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ใช้ความคิด จินตนาการ และฝีมือสร้างสรรค์ ผลงานแปลกใหม่ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เด็กไทยก็มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก




ชอบนวัตกรรมนี้เพราะเป็นคนที่ชอบทานส้มตำมากๆ เมื่อมีนวัตกรรมของส้มตำเกิดขึ้นมายิ่งทำให้ชอบรับประทานมากยิ่งขึ้นเพราะจะเพิ่มคุณค่าทางอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรตและไขมันอย่างนี้ก็ทำให้ส้มตำมีประโยนช์ครบทั้ง 5 หมู่ และได้เปลี่ยนแปลงรสชาติใหมของส้มตำอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น: